วันดิวาลี

ดิวาลี : เทศกาลแห่งแสงสว่าง

ในที่สุด พระราม สีดา พระลักษณ์ และเหล่าขุนพลวานร เดินทางถึงกรุงอโยธยาในวันแรม 13 ค่ำของเดือนอัศวินันท์

ตามปฏิทินจันทรคติฮินดูชนที่เรียกว่า “กฤษณปักษ์” โดยใช้เวลาเกือบ 3 สัปดาห์ ชาวเมืองดีใจสุดขีดต้อนรับเฉลิมฉลองโดยจุดประทัดปั้ดๆๆๆ และจุดเทียนสว่างไสวไปทั้งเมือง

… เกิดเป็น เทศกาลดิวาลี (Diwali) หรือ เทศกาลแห่งแสงสว่าง นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

พระรามและพวกพ้องเดินทางถึงกรุงอโยธยา (ภาพจาก hariharji.blogspot.com)

 

เทศกาลดิวาลีเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู เชน และซิกข์ มีตำนานความเชื่อแตกต่างกันไป มีการเฉลิมฉลองเรียกว่าแทบจะทั่วโลกที่มีผู้นับถือศาสนาทั้งสามไปอาศัยอยู่ ไล่ไปตั้งแต่ในอินเดียเองซึ่งในแต่ละรัฐก็ฉลองตามความเชื่อที่ต่างกัน เนปาล ศรีลังกา พม่า สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ประเทศหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน อเมริกาใต้บางประเทศ รวมทั้งในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษซึ่งมีฮินดูชนอาศัยอยู่จำนวนมาก

คำว่า ดิวาลี (Diwali หรือ Divali) กร่อนมาจากคำว่า “ทีปวาลี” (Deepavali หรือ Dipavali) ในภาษาสันสกฤต

แปลว่า “แถวของตะเกียง” ซึ่งมาจากการจุดตะเกียงดินเล็กๆ จำนวนมากข้ามคืนยามราตรีเพื่อแสดงถึงความดี

 

ที่ชนะความชั่ว ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ในรอบปีเพื่อรอรับพระนางลักษมี พระชายาของพระศิวะ ที่เชื่อกันว่าจะมาเยี่ยมบ้านฮินดูชนในวันนี้ มีการจุดประทัดเพื่อขับไล่ความชั่วร้าย (สงสัยความชั่วมีมาก จัดกันหูดับสนั่นเมือง!) ผู้คนจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ แจกขนมหวาน ของทานเล่น (อ่านดีๆ ไม่ใช่ทานของเล่นนะครับ) ในหมู่สมาชิกครอบครัวและเพื่อนฝูงญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อเป็นสิริมงคล

 

โดยในวันแรกเริ่มของเทศกาลเรียกว่า “ธันธีระ” (Dhanteras)

อันเป็นวันที่พ่อค้าแม่ค้าธุรกิจอินเดียส่วนใหญ่ถือว่าเป็นวันแรกของ “ปีงบประมาณ” .. ทำไมเหรอครับ? … เพราะคำว่า “ธัน” หรือ “ธนะ” แปลว่าความร่ำรวยรุ่งเรืองมั่งคั่งไงล่ะครับ ดังนั้น จึงถือเอาวันฤกษ์ดีเป็นวันเริ่มปีงบของเค้า เงินทองจะได้ไหลมาเทมานั่นไง

วันที่สองเรียกว่า “นรกจตุรทศ” (Naraka Chaturdasi)

เป็นวันฉลองชัยชนะของพระกฤษณะกับพระนางสัตยภามาเหนือปีศาจที่ชื่อว่านรกาสูร อีกตำนานเชื่อว่าเป็นวันที่พระนางกาลีปราบนรกาสูรลงได้ วันนี้เป็นวันที่ผู้คนจะขจัดตัวขี้เกียจ ที่ทำให้ชีวิตเราตกต่ำย่ำแย่ (โอ้ สงสัยต้องไปแจม) โดยอาบน้ำสระผมให้สะอาดเอี่ยมเรี่ยมเร้ พวกที่ไม่ค่อยได้อาบก็จะอาบอย่างนี้วันนี้ล่ะ … แล้วเอาคาชัล (kajal) ป้ายรอบขอบตาเพื่อป้องกันดวงตาปีศาจจะมาจ้องส่งโชคร้ายมาให้ บางรายก็ไหว้บรรพบุรุษด้วยนะครับ

 

พระวิษณุอวตารในร่างของพราหมณ์แคระวามนาย่างก้าวที่สาม (ภาพ www.indianmythology.com)

 

วันนที่สามเรียกว่า “อมาวาสย์” (Amavasya) ผู้คนจะบูชาพระนางลักษมี เทพีแห่งโชคลาภและความร่ำรวย เพราะเชื่อกันว่าในวันนี้พระนางจะอยู่ในโหมดเมตตากรุณาใจบุญสุนทาน ดลบันดาลให้คำอธิษฐานของผู้ที่กราบไหว้บูชาพระนางเป็นไปตามที่ขอ ประมาณว่า “วันขอมาจัดไป” …

อีกตำนานบอกว่าเป็นวันที่พราหมณ์แคระชื่อวามนา ซึ่งเป็นปางพระวิษณุอวตารปางที่ 5 ปราบพญายักษ์พาลี ส่งไปอยู่ใต้โลกมนุษย์ ท่านยักษ์พาลีผู้หลานของยักษ์หิรัญยกศิปุ

(อ่านเรื่องของยักษ์ตนนี้ได้ในตอนเทศกาลโฮลี่ http://www.thaiemb.org.in/th/narrative/detail.php?ID=1776)

คิดการใหญ่จะครองทั้งสามโลกหลังจากยึดทั้งสวรรค์และใต้บาดาลได้จากพระอินทร์และเหล่าเทพทั้งหลาย เดือดร้อนถึง

พระวิษณุต้องอวตารเป็นพราหมณ์แคระวามนา มาขัดคอขอที่แค่ 3 ก้าว พาลีเห็นว่า โถ แค่นั้นเอง เอาเลย พ่อพราหมณ์ …

ชะแว้บบบบ พ่อพราหมณ์ก็แปลงร่างใหญ่โตโอฬาร

 

ก้าวแรกเหยียบย่างทั้งโลกมนุษย์และโลกบาดาล ก้าวที่สองก้าวไปถึงสวรรค์ .. โอ๊ะโอ … พลาดซะแล้วตู” พาลีคิด “สองก้าว สามโลก ก้าวสุดท้าย ตูเสร็จแน่” ว่าแล้วก็ยอมยกถวายหัวตัวเองให้เป็น ก้าวที่สามของพราหมณ์จำแลงเพื่อให้ครบตามสัญญา …

เหล่าอสูรยักษ์เห็นเช่นนั้น “ไฮ้ ไม่ได้สิเจ้านาย ต้องสู้ อย่าได้ยอม” “ไม่ได้ไม่ได้ ท่านเป็นพระผู้สร้าง เราทั้งหลายเกิดจากท่าน ตอนนี้ถึงเวลาท่านเอาคืนแล้ว” พราหมณ์จำแลงก็ได้เหยียบศีรษะของพญายักษ์เป็นอันครบตามสัญญา แต่ด้วยความเมตตา เห็นว่าพาลียอมรับความพ่ายแพ้ สำนึกผิดและเคารพต่อพระวิษณุ พระองค์จึงส่งให้พาลีไปอยู่บนสวรรค์เป็นการตอบแทน

 

อ้า ต่อกันวันที่สี่ เรียกว่า “กรฑิกสุทปัตยมี” (Kartika Shudda Padyami) เป็นวันที่พญาพาลีพ้นจากนรกขึ้นไปปกครองสวรรค์ชั้นฟ้าตามที่พระวิษณุประทานพรให้ และวันสุดท้ายวันที่ห้า เรียกว่า “ยมาทวิติยะ” (Yama Dvitiya) บ้าง “ไภฑุช” (Bhai Dooj) บ้าง อันเป็นวันที่พวกพระรามกลับถึงกรุงอโยธยา

ในวันสุดท้ายนี้ เป็นวันที่ฝ่ายพี่สาวน้องสาวจะแสดงความรักให้พี่ชายน้องชายของตนได้ซาบซึ้ง … ครับ มีที่มาแน่นอน

ตำนานบอกว่าพญายม เจ้าแห่งขุมนรก ได้ไปเยี่ยมพระนางยมี น้องสาว (คือแม่น้ำยมุนาที่ไหลผ่านกรุงนิวเดลีนี่เอง) ซึ่งได้ต้อนรับพี่ชายด้วยการสวดบูชาแบบอาร์ติ (Aarti คือการจุดไฟด้วยใช้เนยเหลวเป็นเชื้อเพลิง) ก่อนกินจุ๊บกินจิ๊บกันฉันพี่น้อง พญายมได้ให้ของขวัญตอบแทนเพื่อเป็นการขอบคุณน้องสาว จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนปัจจุบัน

ดังที่เคยเล่าไปบ้างแล้วว่าแต่ละเทศกาลของฮินดูจะผูกพันกับวิถีชีวิตของเกษตรกร ดิวาลีก็เช่นกัน เป็นสัญญาณว่าหมดหน้าเก็บเกี่ยวผลิตผลแล้ว ชาวไร่ชาวนาทั้งหลายจะสวดมนต์ขอบคุณเทพยดาฟ้าดินสำหรับปีที่ผ่านมาและสวดขอพรให้ได้ผลผลิตที่ดีในปีต่อไป

 

การกวนเกษียรสมุทร (ภาพ divinehindugodwallpapers.blogspot.in)
 

ด้วยเหตุนี้ คนจำนวนไม่น้อยจึงบูชาพระลักษมีควบคู่ไปด้วยในวันนี้เพราะท่านเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความมั่งคั่งร่ำรวย … ใช่แล้วครับ มีตำนานอีกแล้ว … พวกเราคงคุ้นกับเรื่องการกวนเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) แล้วมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นจากการกวนครั้งนี้ ครับ พระนางลักษมีเป็นอย่างหนึ่งที่ถือกำเนิดในวันนี้จากการกวนเกษียรสมุทรครับ

อีกตำนานบอกว่าเมื่อพระวิษณุกลับจากไปกำราบพญาพาลีมาถึงเขาไวกูณฐ์อันเป็นที่ประทับ พระนางลักษมีดีใจยิ่งนัก จึงอยู่ในโหมดอารมณ์ดี เมตตากรุณาประทานพรอย่างไม่อั้น จัดหนักจัดเต็ม … จึงต้องรีบบูชาขอพรท่านกันอย่างด่วน

 

พระนางลักษมีเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร (ภาพ starworlds.blogspot.com)

 

พระวิษณุ (ประทานความสุขและความพอใจต่างๆ)
พระอินทร์ (ประทานความอุดมสมบูรณ์)
ท้าวกุเวร (ประทานความเอื้ออารี แต่ท่านคือท้าวเวสสุวรรณ ตามนัยทางพุทธ)
พระคเนศวร์ (ประทานความสำเร็จและความมั่งคั่ง)
พระลักษมี (ประทานพละกำลัง) แถมมี พระสรัสวดี (ประทานความรู้สติปัญญา)

ผู้ที่นับถือศาสนาซิกข์และศาสนาเชนเฉลิมฉลองดิวาลีด้วยเหตุผลความเชื่อที่ต่างไป

ศาสนาซิกข์จะฉลองวัน “บันดิจอรห์ทิวา” (Bandi Chhorh Diva) หรือวันปลดปล่อย ซึ่งเป็นวันที่คุรุฮัรโฆบินด์ยิ (สะกดตามสมาคมไทยซิกข์แห่งประเทศไทย Guru Hargobindji) คุรุคนที่ 6 ของศาสนาซิกข์ได้รับการปลดปล่อยจากการจองจำของจักรวรรดิโมกุล ส่วนศาสนาเชนนั้นถือว่าเป็นวันที่พระมหาวีระผู้เป็นบรมศาสดาบรรลุนิพพานหรือโมกษะ บังเอิญวันสำคัญของซิกข์และเชนตรงกับวันดิวาลีพอดีครับ

ปี 2563 นี้ วันดิวาลีตรงกับวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน แจึงเป็นวันที่ดีที่สุดวันหนึ่งของปีเลยทีเดียว ถ้างั้นผมขอไปแจมจุดประทัด จุดเทียน จุดตะเกียงกับเพื่อนฮินดูชนก่อนล่ะครับ

 

 

 

Visitors: 548,100